ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ยังคงเดินหน้าตามแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 และแผนกลยุทธ์องค์กรในการเสริมสร้างความรู้ด้านประกันภัยแก่ประชาชน และพัฒนาช่องทางการสื่อสารต่างๆให้เข้าถึงประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยให้ได้รับความเป็นธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการประกันภัย ซึ่งได้ดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดย สำนักงาน คปภ. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัย ซึ่งประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ อาทิ ภาคหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัย ได้แก่ สำนักงาน คปภ. ภาคหน่วยงานที่ดูแลด้านคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ภาคประชาชน ได้แก่ สมาคมส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภค สมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวแทนของคนพิการ ได้แก่ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ภาคที่เกี่ยวข้องกับสื่อประชาสัมพันธ์ ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และภาคองค์กรธุรกิจประกันภัย ได้แก่ สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ระบบการประกันภัยมีความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการประกันภัย รวมทั้งเพื่อเพิ่มกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลรับฟังสภาพปัญหา และระดมข้อคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โดยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานคปภ.ได้จัดประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัย โดยเปิดโอกาสให้คณะกรรมการฯนำเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อ สำนักงาน คปภ. ในเรื่องนโยบาย และมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการประกันภัย รวมทั้งกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านการประกันภัย โดยที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และเห็นตรงกันว่าในการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบด้านประกันภัย สิ่งที่ควรจะให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ คือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในเรื่องประกันภัย (Insurance literteracy) ซึ่งถือเป็นมาตรการป้องกันหรือมาตรการที่ต้นน้ำเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ประชาชน เพราะหากประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนี้แล้วก็จะไม่ถูกหลอกหรือตกเป็นเหยื่อการเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทหรือคนกลางประกันภัย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ในการประชุมครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งมิติในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการประกันภัย เนื่องจากธุรกิจประกันภัยมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่องทำให้มีข้อพิพาทจากสัญญาประกันภัยเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ดังนั้นเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยให้ได้รับความเป็นธรรม จึงต้องรับฟังเสียงสะท้อนและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีข้อสรุปตรงกันในเบื้องต้นให้เร่งขับเคลื่อน 5 มาตรการที่สำคัญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัย ได้แก่ มาตรการแรก การเพิ่มประสิทธิภาพการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยให้กับประชาชน โดยเพิ่มกลไกการมีส่วนร่วมผ่านเครือข่ายให้มากขึ้นทั้งภาครัฐ  ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และองค์กรภาคประชาชน โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการ รวมทั้งการลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจ และรับทราบสภาพปัญหาจากประชาชนด้านการประกันภัย

มาตรการที่ 2 การกำกับดูแลโฆษณาที่เกี่ยวกับประกันภัยเกินจริง ซึ่งปัจจุบันมีประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสื่อโฆษณา ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย พ.ศ. 2556 และประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสื่อโฆษณา ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต พ.ศ. 2556 ไว้แล้ว อย่างไรก็ตามเพื่อให้การกำกับดูแลการโฆษณาด้านการประกันภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นควรตั้งคณะทำงาน โดยเฉพาะเพื่อช่วยตรวจสอบประเด็นว่าจะเป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ และพิจารณาเรื่องร้องเรียนในประเด็นที่เกี่ยวข้องด้วย  

นอกจากนี้ยังเห็นควรให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขตามประกาศ คปภ. เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยทางสื่อโฆษณาฯ พ.ศ. 2556 ซึ่งบัญญัติมาตั้งแต่ปี 2556 และบังคับใช้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วว่ามีความครบถ้วนชัดเจนหรือไม่ ถ้ามีประเด็นที่ไม่ชัดเจน ก็ให้เสนอแก้ไขปรับปรุง รวมทั้งเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนด้วย

มาตรการที่ 3 การแก้ไขปัญหาการร้องเรียนซ้ำซ้อน กรณีเมื่อมีการร้องเรียนที่ สำนักงาน คปภ. แล้วผู้ร้องเรียนไปร้องเรียนที่ สคบ. ด้วย โดยเห็นควรให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง สำนักงาน คปภ. กับ สคบ. เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้และให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. เป็นฝ่ายเลขานุการและผู้ประสานงาน

มาตรการที่ 4 การคุ้มครองผู้พิการด้านการประกันภัย เห็นควรให้สายตรวจสอบคนกลางประกันภัย จัดทำคู่มือการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย และปรับปรุงข้อสอบตัวแทนนายหน้าประกันภัยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ รวมทั้งประสานกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยในการส่งเสริมโอกาสผู้พิการให้สามารถเข้าสู่อาชีพคนกลางประกันภัยเพิ่มขึ้น อีกทั้งมอบหมายให้สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยส่งเสริมแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ สำหรับผู้พิการ นอกจากนี้เห็นควรให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ดำเนินการเชื่อมต่อระบบสายด่วนคนพิการ 1479  กับสายด่วน คปภ. 1186 เพื่อให้ผู้พิการมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประกันภัย รวมทั้งให้สายกลยุทธ์องค์กร (กลุ่มงานสื่อสารองค์กร) พิจารณาจัดทำสื่อสำหรับการให้ความรู้ด้านการประกันภัยแก่ผู้พิการให้เหมาะสม

และมาตรการที่ 5 ในเรื่องของการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย โดยมอบหมายให้สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค รวมทั้งสายกลยุทธ์องค์กร (กลุ่มงานสื่อสารองค์กร) ประสานกับผู้แทนกรมประชาสัมพันธ์และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ เพื่อแนะนำแนวทางการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้มีรูปแบบและเนื้อหาการนำเสนอที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนมีรูปแบบที่เข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย

“สำนักงาน คปภ. ยังคงเดินหน้าในทุกมิติเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย ผ่านการสร้างเครือข่ายแบบบูรณาการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้เข้มแข็งและครอบคลุมทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการทำประกันภัยและได้รับการคุ้มครองด้านการประกันภัยอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม อันจะเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมประกันภัยไทยทั้งระบบได้รับความน่าเชื่อถือและเป็นเสาหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างมั่นคง ยั่งยืนตลอดไป” ดร.สุทธิพล กล่าวในที่สุด

 

ที่มา : http://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/87594


30/08/2560

แชร์

 

บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) ใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ หากท่านปฏิเสธคุกกี้ หรือยังคงใช้งานเว็บไซต์ต่อไป บริษัทฯจะยังคงเก็บคุกกี้ ที่มีความจำเป็นต่อการใช้งานเว็บไซต์ของท่านเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม

ปฏิเสธ ยอมรับ