ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังน่าเป็นห่วงและอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนมที่ปริมาณน้ำยังเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเสียหายทั้งบ้านเรือนและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ซึ่งสำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมในครั้งนี้เป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ตนและคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. พร้อมด้วยผู้อำนวยการภาค 3 ภาค 4 และ ภาค 5 ได้ลงพื้นที่ในภาคอีสานที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม เริ่มที่จังหวัดนครพนม โดยมีการมอบเครื่องอุปโภค บริโภค และน้ำดื่มให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมผ่านนายสมชาย วิทย์ดำรง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นผู้รับมอบ ณ ศาลากลางจังหวัดนครพนม เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้เป็นประธานการประชุมบูรณาการการทำงานเตรียมการป้องกันและช่วยเหลือภัยน้ำท่วมโดยประชุมร่วมกับ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม บริษัทประกันภัย บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สาขาธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมถึงภาคธุรกิจในจังหวัดนครพนม ซึ่งจากการประชุมบูรณาการร่วมกันในครั้งนี้    ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการดำเนินการด้านประกันภัยเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกมาตรการป้องกันสำหรับพื้นที่ที่ยังไม่ถูกน้ำท่วมเพื่อลดผลกระทบ และส่วนที่สอง มาตรการเยียวยาในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมแล้วเพื่อเร่งบูรณาการเยียวยาผู้ประสบภัยและประสานความร่วมมือด้านข้อมูลการจัดทำประกันภัย ประสานงานการสำรวจภัยและการประเมินความเสียหาย รวมทั้งรวบรวมข้อมูลความเสียหาย ประสานติดตาม เร่งรัดให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อย่างรวดเร็ว ถูกต้องและเป็นธรรม พร้อมได้เน้นย้ำให้ยึดถือแนวทางการจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยรถยนต์ที่เคยปฏิบัติเกี่ยวกับการซ่อมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมเมื่อปี 2554 เพื่อป้องกันการเอาเปรียบผู้เอาประกันภัยที่รถยนต์ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย รวมทั้งขอความร่วมมือในการจัดหาพื้นที่กลางสำหรับจอดรถเพื่อป้องกันไม่ให้รถยนต์ของประชาชนถูกน้ำท่วมโดยในส่วนภาครัฐ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนมรับไปดำเนินการจัดหาสถานที่ ส่วนภาคเอกชน ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนมรับไปดำเนินการต่อไป

ในส่วนของเกษตรกรชาวนา ได้ขอความร่วมมือให้ ธ.ก.ส. เร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรชาวนาในพื้นที่ที่ยังไม่ถูกน้ำท่วมให้รีบทำประกันภัยข้าวนาปี เพื่อบริหารความเสี่ยงภัยจากภัยน้ำท่วม ส่วนพื้นที่นาที่ถูกน้ำท่วมและได้ทำประกันภัยข้าวนาปีไว้แล้วให้เร่งสำรวจเพื่อจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างเร่งด่วนต่อไป

"การลงพื้นที่น้ำท่วมในจังหวัดนครพนมของ สำนักงาน คปภ. ครั้งนี้ถือเป็นโมเดลในการกำหนดมาตรการเพื่อรับมือภัยน้ำท่วมสำหรับพื้นที่ที่ยังไม่ถูกน้ำท่วม โดยเน้นมาตรการป้องกันควบคู่กับมาตรการเยียวยา โดยสำนักงาน คปภ. จะใช้โมเดลนี้เป็นมาตรการด้านประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงและสู้ภัยน้ำท่วมในพื้นที่อื่นต่อไป"

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังเตรียมออกมาตรการเพื่อเยียวยาสำหรับพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม ด้วยการออกคำสั่งนายทะเบียนเพื่อผ่อนผันเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยในเขตพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้เอาประกันภัย เช่น มาตรการในการขยายระยะเวลาการผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยจากเดิม 31 วัน เป็นไม่เกิน 91 วัน  มาตรการในการยกเว้นดอกเบี้ยและงดการตรวจสุขภาพในกรณีต่ออายุกรมธรรม์เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่กรมธรรม์ประกันภัยหมดอายุและมาตรการในการยกเว้นดอกเบี้ยการชำระคืนเงินฉัน้ชำระเบี้ยประกันภัยโดยอัตโนมัติภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระ รวมทั้งการออกมาตรการภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยออกประกาศ สำนักงาน คปภ. อนุญาตให้ตัวแทนประกันชีวิต ตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต นายหน้าประกันวินาศภัยในพื้นที่ที่เกิดเหตุอุทกภัยที่ใบอนุญาตสิ้นอายุให้สามารถขอขยายระยะเวลาพร้อมขอต่ออายุใบอนุญาตได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่เหตุการณ์ที่จำเป็นสืบเนื่องจากเหตุอุทกภัยนั้นได้สิ้นสุดลง สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่ทำประกันภัยไว้

“ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องที่คนไทยทั้งประเทศไม่อาจนิ่งดูดาย สำนักงาน คปภ. จะใช้สรรพกำลังและเครือข่ายภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ขอฝากพี่น้องประชาชนว่าการประกันภัยจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยต่างๆที่เกิดขึ้นได้ ขอให้พิจารณาเลือกซื้อตามความเหมาะสมและความเสี่ยงภัยของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกันภัยข้าวนาปี และหากมีข้อสงสัยขอให้ติดต่อ สำนักงาน คปภ.ในพื้นที่ หรือ สายด่วน คปภ. 1186” ดร.สุทธิพล กล่าวในที่สุด

 

ที่มา : http://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/87484


01/08/2560

แชร์

 

บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) ใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ หากท่านปฏิเสธคุกกี้ หรือยังคงใช้งานเว็บไซต์ต่อไป บริษัทฯจะยังคงเก็บคุกกี้ ที่มีความจำเป็นต่อการใช้งานเว็บไซต์ของท่านเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม

ปฏิเสธ ยอมรับ