ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ได้เดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเล พ.ศ. ... ด้วยการจัดสัมมนาในหัวข้อ “กฎหมายว่าด้วยการประกันภัยทางทะเลฉบับแรกของประเทศไทย” เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2560 ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพมหานคร  โดยมีคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย บริษัทประกันวินาศภัย ผู้แทนกรมเจ้าท่า กรมสนธิสัญญา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมเจ้าของเรือไทย สมาคมเจ้าของเรือและตัวแทนเรือกรุงเทพ สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ผู้แทนภาคประชาชน เข้าร่วมการสัมมนาจำนวนกว่า 250 คน

ปัจจุบัน ประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้นำเข้าและส่งออกสินค้ารายใหญ่ของภูมิภาคอาเซียน และเป็นประเทศที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมารองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการสื่อสารการสาธารณูปโภค การลงทุน รวมถึงการค้าและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งได้มีการออกกฎหมายการค้าและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจนครบถ้วนแล้ว ขาดแต่เพียงกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยทางทะเลเท่านั้น ดังนั้น เมื่อเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาประกันภัยทางทะเล ตั้งแต่ พ.ศ. 2496 ศาลฎีกาจึงนำกฎหมายประกันภัยทางทะเลของประเทศอังกฤษ (Marine Insurance Act 1906) มาปรับใช้ในฐานะหลักกฎหมายทั่วไป โดยใช้หลักการตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งก็สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สถานะของการเป็นหลักกฎหมายทั่วไปนั้น สร้างความยุ่งยากในการนำสืบหลักกฎหมายของต่างประเทศ และยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันในเชิงคดี เพราะต้องมีการนำสืบหลักกฎหมายที่เป็นข้อเท็จจริง อีกทั้งผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในหลักกฎหมายดังกล่าวมีจำนวนจำกัด และต้องอาศัยประสบการณ์ความสามารถในการถามให้ตรงประเด็นกับข้อกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการวินิจฉัยของศาล ทั้งยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างประเทศ

นอกจากนี้ จากข้อมูลสถิติการประกันภัยทางทะเลและการขนส่งสินค้าในปี 2559 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 5,267 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.03 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าและส่งออกเท่านั้น โดยที่ศักยภาพของตลาดอาจมีมากถึง 14,400 ล้านบาท (คำนวณจากเบี้ยประกันภัยต่ำสุดคือร้อยละ 0.1 ของการประกันภัยทางทะเลและการขนส่งสินค้าจากการนำเข้าและส่งออก) จึงควรจะมีโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายเพื่อให้สามารถใช้โอกาสนี้พัฒนาจุดแข็งและ  ลดจุดอ่อน เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับธุรกิจประกันภัยไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากเหตุผลดังที่กล่าวมา สำนักงาน คปภ. จึงได้ตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร ผลักดันการยกร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเลจนเป็นผลสำเร็จ ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ สำนักงาน คปภ. ได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานศาลยุติธรรม สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย บริษัทประกันวินาศภัย กรมเจ้าท่า กรมสนธิสัญญา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมเจ้าของเรือไทย สมาคมเจ้าของเรือและตัวแทนเรือกรุงเทพ รวมถึงสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

"สำนักงาน คปภ. ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติประกันภัยทางทะเลผ่านความเห็นชอบของบอร์ด คปภ. และได้เสนอต่อกระทรวงการคลังให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาเห็นชอบ ก่อนจะเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและดำเนินการตามขั้นตอนของการพิจารณากฎหมายต่อไป"

ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า ร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเล แบ่งออกเป็น 15 หมวด 134 มาตรา ดังนั้น การสัมมนาในหัวข้อ “กฎหมายว่าด้วยการประกันภัยทางทะเลฉบับแรกของประเทศไทย” ในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีให้ผู้มีส่วนได้เสียเกิดความรู้ความเข้าใจและความคุ้นเคยต่อร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเล ทั้งยังเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าวให้เหมาะสมต่อไป ซึ่งร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเลในครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีกฎหมายประกันภัยทางทะเลของตนเองเป็นครั้งแรก อันเป็นการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางกฎหมายของประเทศไทย ที่จะเป็นกลไกในการช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจไทยด้านอุตสาหกรรมประกันภัยทางทะเลและขนส่งให้แข่งขันในเวทีโลกได้ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างประเทศ รวมทั้งเสริมประสิทธิภาพการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยอีกด้วย

 

ที่มา : http://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/87645


15/09/2560

แชร์

 

บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) ใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ หากท่านปฏิเสธคุกกี้ หรือยังคงใช้งานเว็บไซต์ต่อไป บริษัทฯจะยังคงเก็บคุกกี้ ที่มีความจำเป็นต่อการใช้งานเว็บไซต์ของท่านเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม

ปฏิเสธ ยอมรับ